โรคสะเก็ดเงินรักษาหายไหม มีวิธีรักษาทางไหนได้บ้าง

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วโลก เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและพัฒนาการของผิวหนังจึงไม่สมบูรณ์ อาการที่พบได้บ่อยๆ คือเป็นปื้นนูนแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจน มีสะเก็ดเงินปกคลุม เมื่อขูดลอกสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักพบบริเวณข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศีรษะ ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะจะมี ผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวคล้ายรังแค เล็บอาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อน ลอกเป็นขุยขาวหรือมีหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ และอาจมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบร่วมด้วย ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินสามารถตรวจสอบตนเองได้ง่ายๆ ว่ามีอาการเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินได้จาก คำถามทดสอบ 3 ข้อ ดังนี้
1. ต้องตื่นกลางดึกเนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่าง
2. ข้อมือและนิ้วบวมหรือเคยมีอาการบวม
3. มีอาการปวดหรือเคยปวดบริเวณส้นเท้า

กรณีผู้ป่วยเคยมีอาการใดอาการหนึ่งจาก 3 ข้อนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันที เพื่อจะได้รับคำแนะนำสู่ขั้นตอนการักษาที่ถูกต้อง โดยจะมีทั้งการรักษาด้วยยาลดการอักเสบ และอาการปวดข้อ การดูแลตนเองเบื้องต้นผ่านการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อและกล้ามเนื้อ การพักผ่อนให้เพียงพอ

ปัจจัยที่มากระตุ้นโรคสะเก็ดเงินได้แก่ การบาดเจ็บของผิวหนัง (รอยฉีกขาด รอยแกะ รอยเกา) อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน (ผื่นมักเริ่มเกิดในช่วงแตกเนื้อหนุ่ม หรือเป็นสาว) และยาบางชนิด (พบได้น้อย) ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน แต่อาการจะกำเริบในช่วงฤดูหนาวซึ่งอากาศแห้ง ด้านสภาพจิตใจหากผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนใจหรือเครียดจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น การติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไข้หวัด มีส่วนทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น รวมถึงการระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น การแพ้ยาทาต่างๆ สบู่ ผงซักฟอก จะทำให้เป็นผื่นมากขึ้น

รักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างไร
การรักษาต้องวางแผนระยะยาวและรักษาอย่างต่อเนื่อง เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความรุนแรงของโรค เนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด และเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค เมื่อเกิดความผิดปกติเล็กน้อยควรรีบรักษา เช่น ถ้าเป็นผื่นไม่มากรักษาโดยใช้ยาทา หากไม่ดีขึ้นอาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงอาจให้ยารับประทานร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อมาทาหรือรับประทานเอง สำหรับผื่นที่หนังศีรษะควรใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของน้ำมันดินร่วมกับยา

ผู้ที่เป็น สะเก็ดเงิน ควรดูแลตนเอง ด้วยการทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อลดอาการผิวแห้ง ใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองของผิวหนัง ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาดผิว เพราะโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ และน้ำยาฆ่าเชื้อจะทำให้เกิดการระคายเคืองและผื่นกำเริบ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ อย่าเกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่น เพราะจะทำให้เลือดออกและผื่นกำเริบได้ อีกทั้งควรดูแลใส่ใจสุขภาพตนเองหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อต่าง ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคสะเก็ดเงิน